จากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - วันที่ 6 พฤษภาคม 2 564 มีผู้ป่วยติดเชื้อมากถึง 47,948 คน เสียชีวิต 242 คน คิดเป็นร้อยละ 0.505 ซึ่งรุนแรงมากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมาหลายเท่าตัว และที่น่าตกใจ คือ 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อ้วนและมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง โรคไต เมื่อติดเชื้อแล้วมีความเสี่ยงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงเป็น 2 เท่าของคนทั่วไป ดังนั้น การดูแลสุขภาพในช่วงนี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการกักตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือทำงานจากที่บ้าน สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ ใช้อุปกรณ์การกินส่วนตัว เว้นระยะห่างระหว่างกัน ไม่ไปในที่แออัด และต้องดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีโอกาส เราจึงมี 5 คำแนะนำในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (Next Normal) ช่วงโควิด-19 เพื่อให้ทุกคนได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตมาฝาก
1. ออกกำลังกายแบบ New Normal
เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด สถานที่ออกกำลังกายกลายเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและรับเชื้อทำให้การออกกำลังกายสำหรับบางคนก็เปลี่ยนไป จากการเข้ายิมหรือฟิตเนส ที่ออกกำลังกายกับคนหมู่มาก เปลี่ยนมาต้องออกกำลังคนเดียวเพื่อต้องการความปลอดภัย หรือบางคนเปลี่ยนมาออกกำลังที่บ้านแทน อาจจะเป็นการออกำลังกายแบบดั้งเดิม หรือการอาศัยเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยให้คุณออกกำลังกายที่บ้านได้อย่างสนุกสนาน
การออกกำลังกายตามแอปพลิเคชั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้คนหันมาใช้แอปฯ เป็นตัวช่วยแทนที่การเข้าฟิตเนส จนกลับมาเป็นกระแสฮิตอีกครั้ง ดังเช่นที่เห็นยอดดาวน์โหลดแอปฯ เหล่านี้ และระยะเวลาที่คนใช้งานแอปฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Live Streaming และ On-Demand Workout ก็ได้รับความนิยมสูง ผ่านการไลฟ์ในช่องทาง Instagram หรือ YouTube Live เนรมิตบ้านของเราให้กลายเป็นสตูดิโอออกกำลังกายย่อม ๆ ได้เลย เพราะอย่างเช่น Base, New Moves, The LAB, Physique 57 ก็หันมาไลฟ์ด้วยแล้ว คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า แม้ตนเองยังคงออกกำลังกาย แต่ก็ไม่สามารถออกได้อย่างเต็มที่หรือเล่นหนักเท่าเดิม เพราะขาดแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจ ไม่มีภาพบรรยากาศจริง ขาดเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
หรือบางคนถนัดการออกกำลังกายรูปแบบเดิม ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งเรามีคำแนะนำและวิธีการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านและไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนักมาฝาก
“เดินเร็ว” แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัด หลายคนก็สามารถออกกำลังกายด้วยการเดิน หรือวิ่งเหยาะ ๆ วนไปรอบบ้านได้
“กระโดดเชือก” ถือเป็นอุปกรณ์ที่เล่นง่าย แม้มีพื้นที่จำกัดก็สามารถเล่นได้ โดยถือเป็นกิจกรรมที่เรียกเหงื่อและทำให้หัวใจสูบฉีดได้เป็นอย่างดี
“เต้นแอโรบิก” แค่มีเพลงที่ชอบ หรือเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเลือกคลิปแอโรบิกที่ชื่นชอบ ซึ่งปัจจุบันโลกออนไลน์ มีให้เลือกจำนวนมาก ก็ออกกำลังกายตามได้แล้ว
“เล่นโยคะ” แน่นอนว่า ถึงเเม้จะมีพื้นที่จำกัดอย่างคอนโด ก็สามารถเล่นกิจกรรมประเภทนี้ได้ และปัจจุบันก็มีการสอนผ่านออนไลน์ให้เลือกตามที่ชอบได้ด้วย
“บอดี้เวท” เป็นการออกกำลังกาย ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์แต่ใช้น้ำหนักตัวเองเป็นแรงต้าน เพื่อสร้างความแข็งแรงทั้งกล้ามเนื้อ และหัวใจด้วยท่าต่าง ๆ
“สร้างกล้ามเนื้อ” หากมีอุปกรณ์ยกน้ำหนักอยู่แล้ว ก็สามารถทำที่บ้านได้เลย แต่หากไม่มีก็สามารถดัดแปลงโดยการใช้สิ่งของใกล้ตัว อย่างเช่น ขวดน้ำ หรือถุงทรายก็ได้
“ออกกำลังกายกึ่งเล่นเกม” ถ้าออกกำลังกายด้วยวิธีการอื่นๆ อาจเบื่อแล้ว เราอาจะเพิ่มอุปกรณ์สำหรับช่วยออกกำลังกาย เช่น เกมริงฟิต ที่กำลังฮิตอยู่ปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถเพลิดเพลินกับการออกกำลังกายไปพร้อมกับการเล่นเกมได้อีกด้วย นอกจากสนุกแล้วยังได้สุขภาพ
เพียงเท่านี้ คุณก็ยังคงฟิตแอนด์เฟริมช่วงโควิดระบาด รักษาหุ่น กล้ามลีน ๆ รอฟิตเนสเปิด หรือไม่แน่ คุณอาจจะพบวิถีในการออกกำลังกายใหม่ที่ใช่สไตส์คุณ
2. อาหารการกินแบบ New Normal
ชั่วโมงนี้คงปฏิเสธไม่ได้กับกระแสการกลับมาพูดถึงและให้ความสำคัญของพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ช่วยป้องกัน ยับยั้ง และบรรเทาเชื้อไวรัสโควิด-19 การเน้นกินอาหารไทยทีอุดมด้วยพืชผัก สมุนไพร โดยเฉพาะ พริก ขิง กระชาย สมุนไพรไทยที่มีสารต้านโรคโควิด-19 ได้
มีคำกล่าวที่ว่า “กินดี” คือ กินแบบไทยโบราณผสมผสานกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียน หรือชาติตะวันตก โดย กิน ผัก พริก ถั่ว งา ปลา (ไม่ทอด) และข้าวกล้อง เสริมด้วยผลไม้จานเล็กทุกมื้อหลังอาหาร และอาจเป็นโอกาสดี ๆ ที่พืชสมุนไพรไทย จะเป็นที่รู้จัก และกลับมาได้รับความนิยมกับผู้บริโภคเจนเนอเรชันใหม่ ๆ ก็ได้
รวมถึงเคล็ดลับดี ๆ 10 ข้อเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ดีในช่วงโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่กรมอนามัยแนะนำวิธีกินแบบพอเพียงช่วงโรคระบาด ตามลิสต์นี้เลย 1) กินพออิ่มในแต่ละมื้อ ตักอาหารปริมาณที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป 2) ดัดแปลงอาหารที่เหลือเป็นอาหารจานใหม่ เช่น ผัดคะน้านำมาต้มจับฉ่ายผสมกับผักอื่น ๆ น้ำแกงส้มที่เหลือสามารถเติมผักเพิ่ม เช่น ถั่วฝักยาว มะละกอ แครอท ผักบุ้ง ส่วนผลไม้ที่เหลือหลายชนิดนำมาทำเป็นสลัดผลไม้ 3) เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารแต่ละประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัตถุดิบต่าง ๆ 4) หุงข้าวผสมข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน เพื่อเพิ่มวิตามินและยังได้สารอาหารอื่นด้วย 5) เลือกวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูกในการทำเมนูอาหาร เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจใช้ ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับเนื้อหมู ไก่ เลือกผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล 6) เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสำเร็จรูปให้มากขึ้น เช่น นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเพิ่มวัตถุดิบอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน ผัก และสมุนไพร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัดกระเพรา หรือต้มยำทรงเครื่อง ปลากระป๋องห่อไข่ 7) ลดการกินจุบ กินจิบ กินอาหารให้เป็นเวลา 8) งดการกินอาหารมื้อดึก เพราะจะสะสมเป็นไขมันแทน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ 9) เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่า และ 10) ไม่กินทิ้งขว้าง มีวินัยในการซื้อและการกินที่ดี
การรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค เสริมสร้างความแข็งแรง ดังนั้นการเลือกและรู้จักรับประทานอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เรามีสุขภาพอนามัยที่ดีได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับมือโรคระบาดที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน
3. การเดินทางสาธารณะ อย่างไรให้ปลอดภัย
เมื่อเราต้องเดินทาง ท่ามกลางการระบาดไปทั่วของโควิด-19 ย่อมมีความกังวลในความปลอดภัย เราจึงมีคำแนะนำมาฝากสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ แท็กซี่ เครื่องบิน ให้ปฎิบัติดังนี้
หากไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำหรือสบู่ได้ทันที ควรพกเจลทำความสะอาดมือและควรใช้บ่อยครั้งเมื่อสัมผัสอุปกรณ์ในที่ส่วนรวม เพราะเชื้อโคโรน่าไวรัส สามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวพลาสติกและเหล็กได้ถึง 72 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการแตะหรือสัมผัสใบหน้า ไม่ว่าจะกำลังโดยสารรถสาธารณะอยู่หรือไม่ก็ตาม เพราะอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสได้อีก ทั้งงดการสัมผัสมือถือให้น้อยที่สุดในขณะที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ยาก แต่ก็ควรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเตือนตัวเอง โดยลดการสัมผัสโทรศัพท์มือถือ เช่น เปลี่ยนที่พกโทรศัพท์ ตอนแรกอาจพกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋ากางเกงเป็นประจำ ให้เปลี่ยนมาใส่ไว้ในกระเป๋าถือแทน หาพื้นที่ว่างโดยควรเว้นระยะห่าง 2 เมตร ในขณะที่อยู่ที่สถานีหรือชานชลาบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่านและไม่สามารถย้ายไปบริเวณอื่นได้ หากมีใครกำลังไอหรือจามให้พยายามออกห่างและรีบหันหน้าไปทางอื่นทันที พยายามหลีกเลี่ยงเดินทางช่วงเวลาแออัด หรือควรเลือกเส้นทางที่มีประชาชนไม่หนาแน่นมาก
กรณีโดยสารรถแท็กซี่ ควรนั่งตอนหลังของรถเท่านั้น เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะโดยสารบนรถ
การโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง งดพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างโดยสาร ควรนั่งข้างแทนการนั่งคร่อมเบาะโดยสาร พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวตลอดเวลาและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
เมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ขณะอยู่ในบริเวณสนามบินและบนเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพอย่างเคร่งครัด โดยทางสายการบินจะกำหนดสัญลักษณ์ไว้ให้สำหรับผู้เดินทาง เช่น พื้นที่เช็คอิน สะพานเทียบอากาศยาน และงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน รวมถึงกรอกแบบสำรวจการเดินทาง หรือแบบฟอร์มของสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง
ในระหว่างการเดินทางไม่ว่าจะเป็นบน รถไฟฟ้า รถเมล์ หรือรถไฟใต้ดิน เครื่องบินหากกำลังถือกระเป๋า หรือ ด้านล่างของกระเป๋าอยู่บนพื้นตลอดเวลา ให้ทำความสะอาดโดยใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ในเมื่อการเดินทางและการไปทำธุระจำเป็นในสถานที่ต่าง ๆ
4. โควิด-19 ยังอยู่เราต้องดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง
ภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่ดี จะสามารถทำความเข้าใจ ปรับตัวและข้ามผ่านปัญหาหรืออุปสรรคไปได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลนั้นมีความหนัก-เบาแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดได้ การสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจด้วยการมองโลกในแง่ดีด้วยความเป็นจริง จะสามารถมองเห็นทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้น ว่ามีหนทางในการแก้ปัญหาหรือความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นใหม่อย่างไร
ใช้หลักธรรมะที่ว่า เกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่เพียงชั่วคราว เป็นวิธีคิดที่ทำให้มีความหวังว่า หากอดทนและมีวิธีจัดการตัวเอง ไม่ว่าเลวร้ายแค่ไหน ก็จะสามารถแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตไปได้ในที่สุด
“ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสใหม่เสมอ”
วิธีคิดแบบนี้ต้องอาศัยความคิดที่ยืดหยุ่น สำหรับการจัดการความเครียดและการตั้งรับที่ดี มีความคิดว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหรือ ความจริงที่เปลี่ยนไปนั้น ย่อมมีโอกาสบางอย่าง ปรากฏขึ้นเสมอ ซึ่งโอกาสนั้นจะต้องมองหา ด้วยตัวเองให้พบ เช่น โอกาสที่มีเวลาทำหน้าที่ ดูแลคนในครอบครัว มีเวลาออกกำลังกาย หรือมีเวลาทบทวนสิ่งที่เกิดให้ชัดเจนขึ้นอีกทั้ง สร้างสรรค์แนวคิดโดยการเปลี่ยนอุปสรรค เป็นความท้าทาย วิเคราะห์จุดด้อย มุ่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง มีบทเรียนอะไรที่สามารถเรียนรู้ได้ การมองเห็นว่าอุปสรรคหรือสถานการณ์แย่ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นให้บทเรียนหรือข้อคิดอะไรบ้าง เป็นการสะท้อนให้กลับมาทบทวนและค้นหาว่า ควรพัฒนาทักษะและพัฒนาตัวเองอย่างไร
เมื่อมองเห็นโอกาสต่าง ๆ และรู้ว่า จะพัฒนาตัวเองอย่างไรแล้ว จะเกิด จุดหมายในชีวิต ซึ่งจุดหมายนั้นคือวิธี การจัดการสถานการณ์ในเชิงรุก เพื่อปรับ ตัวไปสู่โลกอนาคตในชีวิตวิถีใหม่นั่นเอง
5. นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการด้านดูแลสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีความกังวลมากขึ้น และอยากเข้ารับการดูแลสุขภาพแบบระบบอัตโนมัติทางไกล นวัตกรรมการจัดการทางการแพทย์คุณภาพสูง ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนการวินิจฉัยและเพิ่มตัวเลือกการรักษาที่ดีขึ้น “บริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล” กับรูปแบบบริการดูแลรักษาตนเองที่บ้านแบบเสมือนจริง (Virtual Home Care) โดยผ่านการพูดคุยกับแพทย์และพยาบาลทางโทรศัพท์หรือวิดีโอ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการวินิจฉัยโรคร้ายแรง หาทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดและโรงพยาบาลที่ดีสุด การบริการรูปแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเสมือนเป็นแหล่งข้อมูลแบบบูรณาการช่วยเหลือผู้ป่วยแบบ end-to-end ซึ่งจากข้อมูลเคสผู้ป่วยที่เข้ารับบริการทั้งหมดทั่วโลกพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 20% ที่เปลี่ยนการวินิจฉัยให้ดีขึ้น และมากกว่า 43% ที่เปลี่ยนแปลงตัวเลือกการรักษาที่ดีกว่า อีกทั้งกว่า 55% ที่มีการยับยั้งหัตถการ การใช้ยาและการให้คำปรึกษาที่ไม่จำเป็น
“เมื่อผู้ป่วยมีคำถามไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใคร “บริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล” จึงทำหน้าที่รวบรวมทุกคำถามของผู้ป่วย จัดการให้แพทย์ในเครือข่ายตอบ การมีแพทย์อยู่เคียงข้าง ผู้ป่วยก็จะมีกำลังใจมากขึ้น” ซึ่งผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง และพยาบาลเฉพาะทาง ติดต่อจุดเดียว เข้าถึงข้อมูล การวินิจฉัย การรักษา อย่างครบรอบด้าน พร้อมเครือข่ายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 4,000 คน และเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 2,000 แห่งทั่วโลก ดูแลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของลูกค้า สู่ผลลัพธ์การรักษา ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ครอบคลุมการให้บริการอย่างน้อย 3 เดือน
เพื่อให้ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ และบริษัทข้ามชาติทั่วโลก รวมถึงลูกค้าส่วนบุคคลเข้าถึง “บริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล” ได้ง่ายขึ้น สามารถเริ่มต้นใช้บริการได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อได้รับสิทธิประโยชน์จากการถือกรมธรรม์ประเภทประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงหรือได้รับเอกสิทธิ์จากสมาชิกที่มียอดกรมธรรม์ชำระเบี้ยรวมต่อปีตั้งแต่ 250,000 บาทขึ้นไป
Comments